Student Exchange
Student Exchange Association
โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนคืออะไร?
โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการและบุคลิกภาพ เข้าร่วมโครงการโดยผ่านกระบวนการตรวจสอบของ SEA และได้รับโอกาสในการเดินทางไปยังต่างประเทศด้วยวีซ่านักเรียนแลกเปลี่ยน (Student Exchange Visa) และเข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
นอกจากนี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้การดำรงชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์อาสาสมัครที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามมาตรฐานของโครงการ ซึ่งจะถือเป็นผู้ปกครองของนักเรียนโดยชอบธรรมระหว่างที่นักเรียนพักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และนักเรียนจะได้รับการดูแลประสานงานจากผู้ประสานงานจากผู้ดูแลโครงการในต่างประเทศตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ 1 ปีการศึกษา (หรือประมาณ 10 เดือน)
นักเรียนจะได้รับโอกาสอย่างมากมายในการฝึกฝนการใช้ภาษากับเจ้าของภาษา ได้ดูแลรับผิดชอบตนเอง ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบขอบเขตของโครงการ ความท้าทายในการปรับตัว เรียนรู้การดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากการดำรงชีวิตที่ประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมไทยกับต่างประเทศ รวมถึงจะได้รับความคุ้มครองทางประกันภัยอย่างถูกต้อง
แนวทางการดำเนินการโครงการ
SEA มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยจะคำนึงถึงความสามารถด้านวิชาการ ความสามารถด้านการสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ ตรวจสอบบุคลิกภาพ สุขภาพ ความรับผิดชอบ และความพร้อมในด้านต่างๆ จากนั้นเมื่อโครงการได้ตอบรับนักเรียนแล้ว นักเรียนจะได้รับชุดเอกสารใบสมัครของต่างประเทศไปจัดทำ และเมื่อนักเรียนได้กรอกข้อมูลและจัดทำชุดเอกสารประกอบอย่างสมบูรณ์แล้ว จากนั้น SEA ก็จะเป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้งก่อนที่จะจัดส่งให้กับองค์กรต่างประเทศเพื่อดำเนินการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
จากนั้นการดำเนินการจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์และโรงเรียนให้กับนักเรียนโดยทางโครงการจะจัดสรรกระจายชุดเอกสารของนักเรียนไปยังเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆเพื่อส่งต่อไปยังครอบครัวอุปถัมภ์ที่สนใจหรือมีคุณลักษณะใกล้เคียงเหมาะสมกับนักเรียนเพื่อความเป็นไปได้ในการตอบรับนักเรียนเข้าสู่ความดูแลของตน เพื่อการดำเนินการจัดการจัดสรรครอบครัวอุปถัมภ์ที่ยินดีคัดเลือกนักเรียนแต่ละคนต่อไป
สำหรับการดำเนินการด้านวีซ่านักเรียนแลกเปลี่ยน ทางองค์กรต่างประเทศจะออกเอกสารสิทธิเพื่อการสมัครวีซ่าและส่งตรงมาให้กับ SEA เพื่อให้ SEA ประสานร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครองในการดำเนินการขอวีซ่านักเรียนแลกเปลี่ยนจากสถานทูต ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศนั้น ๆ ตามกำหนดการที่กำหนดไว้ และเมื่อนักเรียนเดินทางไปถึงปลายทาง นักเรียนจะได้รับการต้อนรับจากครอบครัวอุปถัมภ์ของตนเองตั้งแต่ที่สนามบินปลายทาง จากนั้นนักเรียนก็จะได้เข้าเรียนและได้รับการประสานงานช่วยเหลือระหว่างโครงการจากผู้ประสานงานในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ
องค์กรต่างประเทศผู้สนับสนุนโครงการ
คือกลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการจัดการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ โดยการพิจารณาตอบรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากการประสานงานร่วมกันขององค์กรเครือข่ายต่างประเทศจากประเทศต่างๆ อย่างเช่นจาก SEA Thailand เป็นต้น นอกจากนั้น องค์กรต่างประเทศยังมีความรับผิดชอบในการคัดเลือกบุคลากร ดำเนินการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามระเบียบของภาครัฐของประเทศนั้นๆ และองค์กรต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่มีสิทธิในการขอออกเอกสารสิทธิในการขอวีซ่าจากหน่วยงานกองตรวจคนเข้าเมือง และมีสิทธิเพิกถอนวีซ่านักเรียนแลกเปลี่ยนอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรต่างประเทศยังสามารถกำหนดระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการดำเนินการปฏิบัติการโครงการ ให้กับทั้งองค์กรเครือข่ายผู้จัดส่งนักเรียน รวมถึงบุคลากรต่างๆให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
ระยะเวลาของโครงการ
ตามข้อกำหนดของกองตรวจคนเข้าเมืองได้กำหนดระยะเวลาสำหรับโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนไว้เป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งจะเป็นไปตามระยะเวลาที่ภาครัฐกำหนดขึ้นร่วมจากการพิจารณาจากองค์กรต่างประเทศและโรงเรียน โดยที่นักเรียนจะได้ศึกษาเข้าเรียนตามระยะเวลา 2 ภาคเรียนใหญ่ (2 semesters)
กำหนดการเดินทางของแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียนแรกของแต่ละประเทศ นอกจากนั้น ยังพิจารณาจากกำหนดการของกิจกรรมพิเศษที่อาจจะมีขึ้น เช่น การปฐมนิเทศก่อนการเข้าร่วมโครงการ หรือการเข้าแค้มป์ภาษาในบางกรณีด้วยเช่นกัน สำหรับช่วงเวลาของการเดินทางกลับ ทางโครงการจะคำนึงถึงกำหนดการปิดภาคเรียนของแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน โดยปรกติแล้ว นักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องเดินทางกลับภายในระยะเวลา 7 วัน หลังจากที่โรงเรียนปิดภาคเรียนที่สอง ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดช่วงเวลาของการเข้าร่วมโครงการไว้ ดังนี้
ประเทศ |
กำหนดการเดินทางไป |
กำหนดการเดินทางกลับ |
USA / Brazil |
ส.ค. – ก.ย. |
พ.ค. – มิ.ย.ปีถัดไป |
France / Germany / Spain |
ส.ค. |
มิ.ย. ปีถัดไป |
Sweden / Denmark / Finland / Norway |
ส.ค. |
มิ.ย. ปีถัดไป |
Italy / Portugal |
ก.ย. |
ก.ค. ปีถัดไป |
China |
ส.ค. |
มิ.ย. ปีถัดไป |
Japan |
มี.ค. หรือ ก.ย. |
ม.ค. หรือ ก.ค. ปีถัดไป |
South Africa |
ก.ค. |
พ.ค. ปีถัดไป |
Australia / New Zealand |
ส.ค. |
มิ.ย. ปีถัดไป |
การปฐมนิเทศโครงการ
SEA จัดให้มีกิจกรรมการปฐมนิเทศโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน 4 รูปแบบดังนี้
- การปฐมนิเทศทุนโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนประจำปี เป็นการปฐมนิเทศเพื่อแนะนำโครงการ ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนของ SEA รวมถึงการประกาศรายชื่อและมอบทุนโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการให้กับนักเรียนในรุ่นนั้นๆ (ระยะเวลา 1 วัน/ตุลาคม)
- กิจกรรม SEA Learning Camp เป็นกิจกรรมสำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ด้วยการให้ข้อมูลที่สำคัญ การเตรียมความพร้อม การถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่ผ่านการร่วมโครงการมาแล้ว (รุ่นพี่ returnee) และกิจกรรมในเชิงวิชาการและนันทนาการต่างๆ ซึ่ง SEA จัดกิจกรรมนี้ที่ต่างจังหวัด (ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เฉพาะนักเรียนเท่านั้น/มีนาคม)
- การปฐมนิเทศก่อนออกเดินทาง คือการเน้นย้ำถึงกฎระเบียบของโครงการที่นักเรียนต้องปฏิบัติตาม รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการก่อนการเดินทางและระหว่างการเข้าร่วมโครงการ (ระยะเวลา 1 วัน/มิถุนายน)
- การปัจฉิมนิเทศ เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับนักเรียนที่เดินทางกลับมาแล้วในแต่ละรุ่น โครงการจะมอบใบประกาศนียบัตรการเข้าร่วมโครงการอย่างประสบความสำเร็จ รวมถึงการแนะแนวทางที่ดีให้กับนักเรียนในอนาคต (ตุลาคม)
ในเบื้องต้น ครอบครัวที่จะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์นั้นควรเป็นบุคคลที่มีความสนใจในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยจิตใจของความเป็นอาสาสมัคร ด้วยความยินดีตอบรับนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติเข้าสู่การดูแลอุปถัมภ์ของตน ครอบครัวอุปถัมภ์เป็นบุคคลที่มีความพร้อมทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบหลักของการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์คือการให้การดูแลสวัสดิภาพของนักเรียนในความอนุเคราะห์ ทั้งในด้านที่พัก ความปลอดภัย โภชนาการ รวมถึงสวัสดิการขั้นมูลฐานอื่นๆตามความเหมาะสม
นอกจากนั้น ครอบครัวอุปถัมภ์ต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการรับสมัคร สัมภาษณ์ การตรวจสถานที่ การอ้างอิงจากเพื่อนบ้านและการยอมรับจากโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานอย่างถูกต้องตามระเบียบจากภาครัฐของประเทศนั้นๆ และในบางประเทศอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา บุคคลซึ่งจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์นั้นจะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมมาด้วยเช่นกัน
จากการที่ครอบครัวอุปถัมภ์ของโครงการจะต้องเป็นบุคคลอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้นจากการตอบรับนักเรียนแลกเปลี่ยน ดั้งนั้น ทั้งนักเรียนแลกเปลี่ยนและผู้ปกครองควรให้ความรัก เคารพ นับถือครอบครัวอุปถัมภ์ของตนเองอย่างยิ่ง เพราะอาจกล่าวได้ว่า ตามบรรทัดฐานของของโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ครอบครัวอุปถัมภ์อาสาสมัครถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดของโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเลยทีเดียว
สำหรับคุณสมบัติหลักของบุคคลที่จะสามารถเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนได้จะมีดังนี้
- บุคคลธรรมดาอายุระหว่าง 22 – 70 ปี
- ถือสัญชาติในประเทศที่นักเรียนเข้าร่วมโครงการอย่างถูกต้อง
- ครอบครองที่พักอาศัยที่ถูกสุขลักษณะ
- มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง
- สุขภาพดี แข็งแรง ไม่มีโรคเรื้อรังหรือโรคติดต่อร้ายแรง
- มีความยินดีที่จะตอบรับนักเรียนแลกเปลี่ยนเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในความดูแลตนเองด้วยความเป็นอาสาสมัคร
- มีความเข้าใจในหลักเกณฑ์และการดำเนินการของโครงการ และได้รับการประสานงานกับผู้ประสานงานในโครงการอย่างถูกต้อง
- มีความยินดีในการเรียนรู้ความท้าทายในการตอบรับนักเรียนแลกเปลี่ยนเข้าสู่ความดูแลของตน สนใจในการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ
จะเห็นได้ว่าบุคคลที่จะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ประกอบจากภายนอก หรือ สภาพร่างกาย และที่พัก และองค์ประกอบภายใน คือจิตใจของความเป็นอาสาสมัครและความพร้อมในการรับกับความท้าทายในการตอบรับนักเรียนเข้าสู่ความดูแลของตน ดังนั้นจึงถือได้ว่าครอบครัวอุปถัมภ์ถือเป็นบุคคลพิเศษสำหรับการดำเนินการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง
การเรียนและโรงเรียน
ตามแนวทางของโครงการ นักเรียนแลกเปลี่ยนจะต้องลงทะเบียนเรียนและเข้าเรียนตามระเบียบการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ตอบรับนักเรียน โดยนักเรียนสามารถคัดเลือกวิชาเรียนที่ตนเองสนใจหรือให้เป็นไปตามหลักสูตรของโรงเรียนที่ไทย หรือตามที่โรงเรียนต่างประเทศนำเสนอให้ได้ นอกจากนั้นนักเรียนย่อมจะต้องผ่านการประเมินทั้งในด้านวิชาการและความประพฤตจากโรงเรียนระหว่างที่นักเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ถ้านักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนอยู่สายวิทยาศาสตร์/คณิตศาสตร์ที่ไทย นักเรียนก็ควรจะเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาที่สอดคล้องกับสายวิชาที่เรียนอยู่ที่ไทย เช่นวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ และพลศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาจมีบางกรณีที่ว่าบางโรงเรียนในบางพื้นที่อาจมิได้มีวิชาที่เปิดสอนเพื่อให้นักเรียนแลกเปลี่ยนได้ลงทะเบียนเรียนตามที่นักเรียนต้องการตามหลักสูตรของนักเรียน ดังนั้นนักเรียนสามารถที่จะเลือกลงทะเบียนเรียนในวิชาอื่นใกล้เคียงตามที่โรงเรียนนั้นๆ นำเสนอตามความเหมาะสม
โรงเรียนส่วนใหญ่ของโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมดเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่มีความยินดีตอบรับนักเรียนแลกเปลี่ยนเข้าสู่ความรับผิดชอบของโรงเรียนนั้นๆ แต่อาจมีในบางกรณีที่นักเรียนอาจจะได้รับการตอบรับจากโรงเรียนเอกชนตามคำร้องขอจากโครงการ หรือจากคำร้องจากครอบครัวอุปถัมภ์ด้วยเช่นกัน หรือหากในพื้นที่นั้นไม่มีโรงเรียนรัฐบาล หรืออาจเป็นจากคำพิจารณาตอบรับจากโรงเรียนเอกชนแห่งนั้นเอง หรือด้วยเหตุผลในความสะดวกอื่นๆแล้วแต่กรณี หากว่าการตอบรับในลักษณะนี้ได้ถูกนำเสนอมาจากโครงการที่ต่างประเทศมายัง SEA ทางฝ่ายผู้ปกครองของนักเรียนมีสิทธิพิจารณาตอบรับหรือปฏิเสธที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนตามที่ทางโครงการนำเสนอมาได้ด้วยเหตุผลตามสมควร เนื่องจากว่าการตอบรับจากโรงเรียนเอกชนย่อมส่งผลถึงการที่ผู้ปกครองจะต้องให้การสนับสนุนทางการเงินให้กับโรงเรียนโดยตรงเพิ่มเติมขึ้นมาจากค่าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนตามปรกติตามที่โครงการกำหนดไว้ด้วย
ตามระเบียบโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน นักเรียนจะต้องลงทะเบียนเข้าเรียนกับโรงเรียนอย่างถูกต้อง และเข้าเรียนตามกำหนดการเรียนของแต่ละวิชาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ นอกจากนั้น นักเรียนจะต้องได้รับคะแนนผลการเรียนในระดับดีด้วยเช่นกัน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของโครงการได้กำหนดไว้ว่านักเรียนจะต้องได้รับผลการเรียนในระดับสูงกว่าเกรด C ขึ้นไปเท่านั้น
ในกรณีที่นักเรียนรายใดได้รับผลการเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ (ได้คะแนนต่ำกว่า C) โรงเรียนอาจจะพิจารณานำเสนอทางเลือกให้นักเรียนได้รับการเรียนการสอนแบบพิเศษหรือที่เรียกว่า ติวเตอร์ (Tutor) โดยที่นักเรียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบเสริมนี้ด้วยตนเอง
ผู้ประสานงานในพื้นที่ Area Representative/Area Coordinator
ผู้ประสานงานในพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการกึ่งอาสาสมัคร ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการดำเนินการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ความรับผิดชอบหลักของผู้ประสานงานในพื้นที่คือการเป็นตัวแทนโครงการในฐานะผู้ประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่ รับสมัครและตรวจสอบคุณสมบัติครอบครัวอุปถัมภ์ ประสานงานจัดการตอบรับนักเรียนจากครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่ของตน พัฒนาเครือข่ายของโครงการ ให้การดูแลประสานงานทั้งนักเรียนแลกเปลี่ยนและครอบครัวอุปถัมภ์ และเป็นผู้ประสานงานระหว่างพื้นที่กับสำนักงานเขตหรือสำนักงานใหญ่ขององค์กรต่างประเทศ ดังนั้น ถือได้ว่าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนจะไม่สามารถดำเนินไปได้เลย ถ้าขาดการพัฒนาเครือข่ายของผู้ประสานงานในพื้นที่ซึ่งตามแนวทางสากลของการดำเนินการโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนย่อมถือว่าผู้ประสานงานในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบนักเรียนแต่ละคนร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ในความดูแลของตนตลอดระยะเวลาโครงการ
- เป็นนักเรียนที่มีความสามารถในเชิงวิชาการ นักเรียนแลกเปลี่ยนควรเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดี มีความสามารถในเชิงวิชาการ มุ่งมั่น ตั้งใจเรียน ทั้งนี้เพื่อความพร้อมที่จะเรียนรู้ศึกษาในโรงเรียนต่างประเทศได้ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ทั่วไป นักเรียนที่จะสามารถเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนได้จะต้องเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงกว่าระดับ 2.80 ขึ้นไป และในบางประเทศเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาจะรับนักเรียนผู้มีเกรดสูงกว่า 3.00 ขึ้นไปเท่านั้น โดยนักเรียนต้องไม่เคยได้รับเกรด 0 หรือ 1 หรือ 2 ในรายวิชาใด ๆในช่วง 3 ปีการศึกษาหลังสุด
- เป็นนักเรียนที่มีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในระดับปานกลางขึ้นไป เนื่องจากว่าภาษาอังกฤษนับเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ในทุกประเทศใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสาร ดังนั้นนักเรียนจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารอยู่ในเกณฑ์พื้นฐานที่สามารถสื่อสารได้ เข้าใจได้ เช่นว่านักเรียนควรจะได้รับระดับคะแนนความสามารถภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษาหรือคะแนนการสอบ SLEP Test สูงกว่าระดับ 45 คะแนน จากคะแนนเต็มที่ 67 เป็นต้น
- เป็นนักเรียนที่มีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ไม่มีโรคภูมิแพ้ต่างๆ
- เป็นนักเรียนที่มีสุขภาพจิตดี ไม่มีอารมณ์แปรปรวน สามารถเข้าสังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่น บุคลิกภาพดี มารยาทดี มีความรับผิดชอบ ขยันขันแข็ง มีความมุ่งมั่น อุตสาหะ มีทัศนคติที่ดี
- รักความท้าทาย สนใจและเปิดรับการเรียนรู้ ประสบการณ์แปลกใหม่
- สามารถเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ โดยไม่ยึดติดกับตัวเอง
- มีสัมมาคารวะ ให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ และปฏิบัติตามระเบียบของโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน
- มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี มีความเข้าใจ และผู้ปกครองให้สนับสนุนการเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนแก่นักเรียน
- มีความพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจจากผู้ปกครอง
Student Testimonial
น้องจ๋า บอกว่า ประทับใจกับการไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของ SEA ที่ประเทศโปรตุเกสมาก แล้วอยากมาแชร์ประสบการณ์อีกครั้งให้น้องๆค่ะ
Thanaporn Kiewpan
Portugal Exchange Student
Student Testimonial
น้องเก้าเล่าเรื่องการใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส กิจกรรมที่ร่วมกับเพื่อนๆในโรงเรียนในช่วง 1 ปี
Pataraklao Thanomboon
France Exchange Student
Student Testimonial
น้องอั้มหนาวมากเมื่อไปที่โน่น กว่าจะปรับตัว กว่าจะทำตัวให้เข้ากับอากาศหนาวๆ น้องอั้มเล่าสนุกมากกับชีวิตที่โน่น ตอนนี้น้องอั้มกำลังสนุกมากกับมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนอยู่
Chotika Luangkangwankij
USA Exchange Student
Student Testimonial
SEA กำลังเปิดรับสมัครสอบเพื่อเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน SEA 2023 (รุ่น 16) สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-5 ที่มีอายุระหว่าง 14-17 ปี และมีผลการเรียนค่าเฉลี่ยแต่ละปีในช่วง 3 ปีการศึกษาล่าสุด 2.50 ขึ้นไป โดยนักเรียนที่สนใจสมัครสอบสามารถเริ่มสมัครสอบได้ ตั้งแต่วันนี้ – 15 สิงหาคม ศกนี้
Tanadej Chomchai
SEA Program Director